โรงเรียนธรรมบวรวิทยา
การศึกษา บทความ ข่าว

Intrend ให้แบบไม่ OUT กับ 5 รูปแบบการสอน Active Learning ที่ครูต้องใช้ในยุคนี้

การเป็นครูก็ว่ายากแล้ว แต่การเป็นครูแบบ Active Learning สมัยนี้ยากกว่า

เพราะนอกจากจะต้องเติมสรรพกำลังในการหาความรู้ใหม่ ๆ  มาใช้สอนแล้ว ยังต้องปรับตัวให้ตามทันการสอนในยุคที่เด็ก ๆ ต้องเรียนแล้วได้อะไรที่มากกว่าความรู้ และต้องสามารถนำความรู้ที่เราสอนไปเชื่อมโยง บูรณาการ คิดวิเคราะห์แล้วนำไปต่อยอดในการใช้ในชีวิตจริงได้ ความยากอยู่ตรงที่เราจะต้องสอนอย่างไรให้พวกเขาได้สิ่งเหล่านี้ มาทำความรู้จัก 5 รูปแบบการสอน Active Learning ที่ตอบโจทย์การเรียนรู้ของเด็กในยุคนี้ พวกเขาต้องเรียนรู้อะไรบ้าง แล้วเราต้องสอนอย่างไรให้เด็ก ๆ ไปสู่เป้าหมาย บทความนี้มีคำตอบครับ

การสอน Active Learning

 

Active Learning  กับการสอนในยุคนี้ดีกับเด็กอย่างไร!

ปฏิเสธไม่ได้ว่าปัจจุบันนี้การสอนในรูปแบบ Active Learning กำลังมาแรง ด้วยกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้รูปแบบการสอนที่หลากหลาย เพื่อกระตุ้นให้เด็ก ๆ ได้คิด ลงมือทำ ได้มีส่วนร่วมกับกิจกรรมต่าง ๆ เชื่อมโยงความรู้ ทักษะ และเจตคติ เพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขาอยากเรียนรู้ และสามารถสร้างองค์ความรู้ให้เกิดขึ้นได้ด้วยตัวเอง เพื่อสร้างนิสัยให้รักการเรียนรู้ตลอดชีวิต

 

รูปแบบการสอน Active Learning ที่ดีต้องอาศัย 4 องค์ประกอบนี้

1. Thinking Based Learning เพราะการสร้างองค์ความรู้ได้นั้นต้องอาศัยการคิด วิเคราะห์ การประเมิน ถึงสามารถสร้างสรรค์เป็นความรู้ของตัวเองได้

2. Learning by Doing เป็นพื้นฐานของการคิดแบบ Active Learning ซึ่งเชื่อว่าไม่ใช่แค่การเรียนรู้เพียงแค่คุณครูบอกเท่านั้น แต่คุณครูต้องฝึกให้เด็ก ๆ สามารถสร้างองค์ความรู้ได้ด้วยตัวเองผ่านการคิด และลงมือทำ

3. Cooperative Learning การสร้างองค์ความรู้เพื่อให้บรรลุตัวชี้วัด และสมรรถนะนั้น นอกจากให้พวกเขาได้เรียนรู้ด้วยตัวเองแล้ว การสร้างองค์ความรู้ผ่านการลงมือทำร่วมกัน มีปฏิสัมพันธ์ร่วมกันกับผู้อื่น ก็สามารถสร้างเรียนรู้แบบ Active Learning ได้เช่นกัน

4. Inquiry Based Learning ให้เด็กได้ลงมือปฏิบัติ และใช้ความคิดของตนเองอย่างเต็มที่ (Active Learning) กระตุ้นให้ผู้เรียนเป็นคนคิดด้วยการ…

– ตั้งคำถาม กำหนดปัญหา และกำหนดสถานการณ์

– ค้นคว้า และค้นหา

– เชื่อมโยงความรู้ที่ได้จากกระบวนการสืบเสาะหาความรู้

ตัวอย่าง 5 รูปแบบการสอน Active Learning ที่ครูต้องใช้ในยุคนี้

รูปแบบการสอนที่ดีนอกจากครบองค์ประกอบของการสอนแบบ Active Learning แล้ว การเลือกรูปแบบการสอนให้เหมาะสมกับเป้าหมาย หรือธรรมชาติการเรียนรู้ของวิชานั้น ๆ ก็เป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้กัน ซึ่งคุณครูอาจตั้งธงไว้ก่อนว่าจะสอนให้เด็กได้อะไรแล้วค่อยเลือกรูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับเป้าหมายนั้น ๆ  ซึ่งขอยก 5 รูปแบบการสอน Active Learning มาเป็นไอเดีย เพื่อให้เข้าใจว่าเป้าหมายใด เหมาะกับวิธีการสอนรูปแบบไหน และใช้เมื่อไร?

รูปแบบการสอนที่ 1: 5E (Engage – Explore – Explain – Extend –Evaluate )

เมื่อเป้าหมายของคุณครู คือ ให้เด็กสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง รูปแบบการสอนนี้จะช่วยให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่เรียนรู้ได้ด้วยตนเอง สร้างทั้งความสนใจ กระตุ้นให้เกิดการเรียนรู้ และเป็นพื้นฐานให้เด็กเกิดทักษะโดยใช้การตั้งคำถาม (Inquiry) ให้พวกเขาได้นำประสบการณ์ที่เรียนรู้ หรือฝึกฝน มาคิด และลงมือทำ จนเกิดเป็นการเรียนรู้จากความเข้าใจของตัวเอง ซึ่งลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ 5E คือ 
•Engage กระตุ้นความสนใจของเด็ก  ๆ ให้มากที่สุด โดยวิธีที่ใช้ต้องสัมพันธ์กับบทเรียน ครูสามารถประเมินความรู้ก่อนเรียนของเด็ก ๆ ในขั้นตอนนี้ได้ด้วย
•Explore เปิดโอกาสให้เด็กได้สร้างความรู้ความเข้าใจในตนเอง
•Explain ให้พวกเขามีโอกาสสื่อสารสิ่งที่เรียนรู้ และสิ่งที่ได้ค้นพบ
•Extend สามารถนำความรู้ไปใช้
•Evaluate ครู และเด็กประเมินความเข้าใจสิ่งที่ได้เรียนรู้ไป

รูปแบบการสอนที่ 2 : Phenomenon Based Learning : PheBL การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปรากฎการณ์เป็นฐาน

เมื่อเป้าหมายตามตัวชี้วัด คือ คิดวิเคราะห์ แก้ไขปัญหา และพัฒนานวัตกรรม รูปแบบการสอนนี้เป็นการเรียนรู้ผ่านปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต ปัจจุบัน หรือปรากฏการณ์ที่มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้น เน้นให้เด็ก ๆ ได้สืบเสาะหาความรู้ด้วยตนเอง ได้สังเคราะห์ความรู้ และแก้ปัญหาด้วยตนเอง ลักษณะสำคัญของการจัดการเรียนรู้แบบ PheBL คือ
•เด็กสามารถสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง
•บูรณาการแบบสหวิทยาการ
•เรียนรู้ในชีวิตจริง ตามสภาพจริง
•เรียนรู้แบบองค์รวมที่สอดคล้องกับบริบท
•เด็กมีบทบาทในการเรียนรู้
•เรียนรู้โดยใช้การสืบเสาะหาความรู้

รูปแบบการสอนที่ 3 : การใช้กรณีศึกษา (Case Study Method)

เมื่อเป้าหมายตามตัวชี้วัด คือ คิดอย่างเป็นระบบ รูปแบบการสอนที่เหมาะสม คือ Case – Study เป็นวิธีสอนที่ใช้กรณีศึกษา หรือเรื่องราวต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นจริงมาดัดแปลงให้เด็ก ๆ ได้ศึกษา วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ที่นอกเหนือจากในตำราเรียน ทำให้พวกเขารู้จักวิธีคิด วิธีนำข้อมูลต่าง ๆ ที่หลากหลายมากขึ้น เพื่อข้อมูลในการเรียนรู้กรณีศึกษาของตัวเองได้

การสอนโดยใช้โครงงานเป็นฐาน Active Learning

รูปแบบการสอนที่ 4 : Project Based  Learning: PrBL

(การจัดการเรียนรู้โดยใช้โครงงานเป็นฐาน )

การจัดการเรียนรู้รูปแบบนี้ จะช่วยพัฒนาผู้เรียนทั้งด้านความรู้ และทักษะผ่านกระบวนการศึกษาค้นคว้า และการใช้ความรู้ผ่านกิจกรรม สามารถตั้งต้นได้จากปัญหา สถานการณ์ คำถาม เงื่อนไข หรือข้อจำกัด ความต้องการต่าง ๆ แล้วสร้างเป็นนวัตกรรม หรือชิ้นงาน เพื่อแก้ปัญหา หรือตอบคำถามในเรื่องนั้น ๆ จะใช้รูปแบบการสอนนี้เมื่อเป้าหมายตามตัวชี้วัด คือ ต้องการให้เด็กออกแบบสร้างสรรค์นวัตกรรมได้ หลักการสำคัญของ PrBL มี 6 ขั้นตอน คือ…

ขั้นตอนที่ 1 การเตรียมความพร้อม เพื่อให้เด็กเข้าใจเป้าหมายของการทำ
ขั้นตอนที่ 2 การกำหนด และเลือกหัวข้อ เป็นการศึกษาความเป็นไปได้ของแต่ละหัวข้อที่จะทำโครงงาน 
ขั้นตอนที่ 3 การเขียนเค้าโครงของโครงงาน เป็นการสร้างผังมโนทัศน์ (Conceptual Map) หรือแผนที่ ความคิด (Mind Map) ที่แสดงถึงภาพรวมทั้งหมดของโครงงานตั้งแต่ต้นจนจบ 
ขั้นตอนที่ 4 การปฏิบัติงานโครงงาน เป็นขั้นตอนนำวิธีการตามเค้าโครงของโครงงานมาลงมือทำ 
ขั้นตอนที่ 5 การนำเสนอผลงาน จัดทำรายงาน และการนำเสนอผลการปฏิบัติโครงงาน 
ขั้นตอนที่ 6 การประเมินโครงงาน เป็นการประเมินอย่าง ต่อเนื่องด้วยวิธีการและเครื่องมือที่หลากหลาย เน้นการประเมินตามสภาพจริง (Authentic Assessment) ทั้งความรู้ กระบวนการ พฤติกรรมของเด็ก ๆ ผลงาน และสิ่งที่พบเจอในขณะทำโครงงาน 

รูปแบบการสอนที่ 5 : การจัดการเรียนรู้โดยใช้ปัญหาเป็นฐาน (Problem Based Learning : PBL)

เมื่อเรามีเป้าหมายตามตัวชี้วัด คือ อยากสอนให้เด็กสามารถแก้ปัญหาเป็น ดังนั้นรูปแบบการสอนที่เหมาะสมกับตัวชี้วัดนี้ คือ Problem Based Learning เด็กจะเรียนรู้โดยใช้ปัญหาที่ใกล้ตัว และพบเจอในชีวิตประจำวันเป็นตัวนำ หรือเป็นฐานในการจัดการเรียนรู้ เพื่อนำมาสู่การนำความรู้ไปประยุกต์ใช้จัดการกับปัญหาดังกล่าวได้ ขั้นตอนของ PBL

เพราะการเรียนรู้แบบ Active Learning ไม่ได้มีสูตรสำเร็จ 

คุณครูจำเป็นต้องใช้การเรียนการสอนที่หลากหลาย เพื่อให้สอดคล้องไปกับบริบทของเนื้อหา และเป้าหมายที่เด็กจะได้รับ อันจะนำไปสู่การเกิดของ “สมรรถนะ” กับพวกเขาต่อไป

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *