เฝ้าระวังเด็กและเยาวชนจากภัยในโลกออนไลน์
ทุกวันนี้ภัยจากโลกออนไลน์นั้น มีอยู่มากมายหลากหลายรูปแบบ ยิ่งเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปไกลมากขึ้นเท่าไหร่ ภัยจากโลกออนไลน์ในรูปแบบใหม่ ๆ ก็มีมากขึ้นเป็นเงาตามตัวและเข้ามาใกล้ตัวเรามากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่สำคัญ ภัยเหล่านี้ก็ไม่ได้เลือกด้วยว่าใครเด็กใครผู้ใหญ่ ทำให้ไม่ว่าใครต่อใครก็มีโอกาสที่จะตกเป็นเหยื่อได้ทั้งนั้น ถ้าไม่ระมัดระวังตัวให้ดี
หลายวันมานี้ มีข่าวเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยออนไลน์ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของเด็กหญิงที่ต้องไปปล้นร้านทอง เพราะถูกโกงแชร์ออนไลน์ หรือ เด็กชายที่สั่งซื้อโทรศัพท์ทางออนไลน์ แล้วไม่ได้รับสินค้า จนเครียดเส้นเลือดในสมองแตกเสียชีวิต ซึ่งนับว่าเป็นข่าวคราวที่สร้างความน่าสลดใจเป็นอย่างมาก และไม่ควรเลยที่เด็กและเยาวชนจะต้องตกเป็นเหยื่อ แต่ข่าวนี้ก็เป็นสิ่งที่แสดงให้เห็นว่าภัยจากโลกออนไลน์นั้น ใกล้ตัวเด็กและเยาวชนมากกว่าที่คิด ซึ่งถ้าพวกเขาไม่มีภูมิคุ้มกันที่ดีหรือมีผู้ให้คำปรึกษาที่เหมาะสม พวกเขาก็อาจไม่สามารถจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นจากภัยเหล่านี้ได้
สำหรับภัยจากโลกออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชนนั้น ต่อไปนี้คือภัยที่ผู้เขียนเห็นว่ามีโอกาสที่จะพบเห็นได้บ่อยครั้ง
การกลั่นแกล้งทางไซเบอร์ (Cyber Bully)
การกลั่นแกล้งกันเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในสังคมของเด็กและเยาวชน แต่มันจะหนักกว่ามากเมื่อเป็นการกระทำผ่านโลกออนไลน์ ซึ่งการกลั่นแกล้งทางไซเบอร์นั้น หมายถึง การที่ผู้กระทำกลั่นแกล้ง การให้ร้าย การด่าว่า การข่มเหง การรังแกผู้อื่น หรือ แสดงความคิดเห็น หรือ เผยแพร่หรือส่งต่อข้อมูล แล้วทำให้ผู้ถูกกระทำเสียหาย ทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ ซึ่งการกระทำเช่นนี้นับว่าเป็นความผิดฐานหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา ตามประมวลกฎหมายอาญา และอาจมีผลกระทบต่อตัวผู้ถูกกระทำทั้งในด้านจิตใจและความปลอดภัยส่วนตัว ดังนั้นจึงควรสอนให้เด็กและเยาวชนควรมีสติก่อนจะโพสต์ แสดงความคิดเห็น หรือ ส่งต่อข้อมูลในสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ เพื่อไม่ให้เป็นการทำร้ายผู้อื่นและไม่ให้ข้อความหรือการกระทำเหล่านี้ วกมาทำร้ายตัวเองในภายหลัง
การถูกเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (Hack)
การถูกเข้าถึงข้อมูลคอมพิวเตอร์โดยมิชอบ (Hack) คือการที่โปรไฟล์ของผู้ใช้งานนั้น ถูกเข้าระบบโดยผู้ที่ไม่ใช่เจ้าของแอคเคาท์ เพื่อดำเนินการทางออนไลน์โดยมิชอบต่าง ๆ เช่น ขโมยข้อมูล โอนเงิน หรือยึดแอคเคาท์ออนไลน์ไว้เพื่อเรียกค่าไถ่ ซึ่งเหตุการณ์นี้มักเกิดจากการที่ผู้ใช้ ใช้รหัสที่คาดเดาได้ง่าย เช่น หมายเลขโทรศัพท์มือถือ วันเดือนปีเกิด หรือเลขที่เรียงลำดับ หรืออาจไปกดลิงก์ Phishing ที่สร้างลิงก์มาหลอกให้คลิก ด้วยการจะให้รางวัล แจกเงิน หรือบัตรกำนัลต่าง ๆ รวมไปถึงการที่ผู้ใช้เข้าชมเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัยด้วย ทำให้ผู้ไม่หวังดีมีช่องทางในการเข้ามาในแอคเคาท์ของเรา ซึ่งผู้ไม่หวังดีเหล่านี้อาจจะดำเนินการโจรกรรมในแอคเคาท์ของเราโดยตรง หรืออาจใช้เป็นช่องทางในการเข้าไปสู่แอคเคาท์อื่น ๆ และอาจใช้ข้อมูลที่ได้จากภายในแอคเคาท์ผู้ใช้ มาหลอกให้ผู้ใช้หรือเพื่อนคนอื่น ๆ โอนเงินหรือส่งข้อมูลที่จำเป็นได้ ซึ่งวิธีการป้องกันในเรื่องนี้คือการอัปเดตโปรแกรม Antivirus ให้ทันสมัยอยู่เสมอ สร้างรหัสที่คาดเดาได้ยาก และไม่ควรเข้าชมหรือดำเนินการใด ๆ ในเว็บไซต์ที่ไม่ปลอดภัย
การถูกฉ้อโกงจากธุรกรรมออนไลน์ (Online fraud)
การหลอกซื้อของออนไลน์ในลักษณะของการจ่ายเงินไปก่อน แต่กลับไม่ได้ของหรือได้ของมาไม่ตรงตามที่ตกลงกันไว้ รวมถึงการโดนโน้มน้าวให้ร่วมลงทุนออนไลน์โดยอ้างว่าได้ผลตอบแทนสูงในระยะเวลาสั้น ๆ แต่เมื่อลงทุนไปแล้วกลับไม่ได้ผลตอบแทน และในขณะเดียวกัน ผู้ที่โน้มน้าวให้ร่วมลงทุนนั้นก็หนีหายพร้อมเงินที่ลงทุนไป สิ่งเหล่านี้กลายเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งบนโลกออนไลน์ เพราะการทำธุรกรรมออนไลน์นั้นแม้ว่าจะมีระบบธุรกรรมที่สามารถตรวจสอบที่มาที่ไปได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่ผู้ใช้นั้นจะต้องไว้ใจและเชื่อถือผู้ขายหรือผู้เสนอในระดับหนึ่ง เพราะมีโอกาสที่จะเกิดการฉ้อโกงได้ง่าย ซึ่งการป้องกันฉ้อโกงออนไลน์สำหรับเด็กและเยาวชนนั้น สำคัญที่สุดคือการสอนให้พวกเขารู้จักตรวจสอบและสืบค้นข้อมูล ของผู้ที่ทำธุรกรรมด้วย ว่ามีตัวตนจริง และมีประวัติฉ้อโกงหรือไม่ ซึ่งสามารถสืบค้นได้จากข้อมูลใน google หรืออ่านรีวิวสินค้าจากแหล่งที่เชื่อถือได้ นอกจากนี้จะซื้อสินค้าใด ก็ควรที่จะรู้มูลค่าที่แท้จริงของสินค้านั้น การที่สินค้ามีราคาที่ถูกเกินไป รวมถึงการชักชวนให้ลงทุนด้วยผลตอบแทนที่สูงเกินความเป็นจริง ย่อมมีแนวโน้มที่จะถูกฉ้อโกงได้
การพนันออนไลน์ (Online gambling)
การพนันออนไลน์ในรูปแบบต่าง ๆ กลายมาเป็นเครื่องมือที่ช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าถึงการพนันได้ง่ายขึ้น และถึงแม้ว่าการเล่นพนันนั้น จะผิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติการพนัน แต่ด้วยการที่ทุกอย่างดำเนินการด้วยระบบออนไลน์ทำให้การเอาผิดนั้นทำได้ยากมาก มันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ผู้ใช้จะต้องเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยวด้วยตัวเอง ซึ่งความน่ากลัวของการพนันออนไลน์นั้น คือ การที่เด็กและเยาวชนสามารถเข้าถึงได้ง่าย ทำให้พวกเขามีโอกาสที่จะหลงไปกับการพนันออนไลน์ได้ และทำให้สูญเสียทรัพย์ เกิดความเครียด จนหาทางออกไม่ได้หรือต้องหาทางออกในทางที่ผิด ซึ่งครูผู้สอนและผู้ปกครองนั้นจะต้องเฝ้าระวังเด็กและเยาวชนในความดูแล ไม่ให้พวกเขาเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้
การล่อลวงทางออนไลน์ (Online temptation)
มีผู้ใช้ไม่น้อยที่ตกเป็นเหยื่อจากการล่อลวงออนไลน์ในเครือข่ายสังคมออนไลน์หรือในเว็บไซต์หาคู่ต่าง ๆ ทำให้ต้องสูญเสียทรัพย์สินหรือถูกล่อลวงไปใช้บริการโดยมิชอบหรือถูกล่วงละเมิดทางเพศ ซึ่งสำหรับเด็กและเยาวชนนั้นนับว่าเป็นกลุ่มเปราะบางที่อาจถูกล่อลวงได้ง่าย โดยเฉพาะในช่วงนี้ที่เด็กและเยาวชนใช้เวลากับการสื่อสารออนไลน์ค่อนข้างมาก จึงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้ปกครองควรเฝ้าระวังกิจกรรมออนไลน์ของเด็กและเยาวชน ว่ามีสิ่งผิดปกติหรือไม่ และควรส่งเสริมให้พวกเขาสามารถที่จะเล่าเรื่องต่าง ๆ ให้กับผู้ปกครองได้อย่างสบายใจ
เกมออนไลน์ (Online Game)
เกมออนไลน์ในยุคปัจจุบันมีการเข้าถึงผู้ใช้ได้หลากหลายทาง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าสนใจและส่งเสริมให้ธุรกิจเกี่ยวกับเกมนั้นเติบโตอย่างมาก ซึ่งเด็กและเยาวชนก็นับเป็นกลุ่มเป้าหมายหลักกลุ่มหนึ่งของบรรดาธุรกิจเกมต่าง ๆ ที่พยายามพัฒนาเกมเพื่อสร้างความบันเทิงให้กับเด็กและเยาวชน เพื่อดึงดูดให้พวกเขามาเล่น ซึ่งการเล่นเกมนั้น ไม่ใช่เรื่องที่ผิดอะไร ในทางตรงข้ามอาจจะเป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำ เพราะช่วยพัฒนาทักษะด้านการคิดให้กับเด็กและเยาวชนได้ ถ้าเล่นในขอบเขตที่พอดี แต่สิ่งที่อาจจะเป็นปัญหาถ้าไม่ระมัดระวังคือค่าใช้จ่ายแฝงที่อาจจะเกิดขึ้นจากการซื้อไอเทมต่าง ๆ ในเกม ซึ่งเด็กและเยาวชนอาจรู้เท่าไม่ถึงการณ์ในเรื่องนี้ ทำให้สูญเสียทรัพย์เป็นจำนวนมากได้ถ้าขาดการป้องกันและระมัดระวัง ซึ่งวิธีการป้องกันที่ดีที่สุดคือการตั้งรหัสป้องกันการชำระเงินไว้ทุกครั้ง เพื่อไม่ให้เผลอกดโดยไม่ระวัง
ข่าวปลอม (Fake News)
ข่าวปลอม เป็นการสร้างข่าวเท็จที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง หรือมีความเป็นจริงแค่เพียงบางส่วน เพื่อเผยแพร่ออกสู่สาธารณะโดยหวังผลประโยชน์ในด้านต่าง ๆ เช่น ให้ร้ายอีกฝ่าย ทำให้เกิดความสับสน สร้างความขัดแย้งและเกลียดชัง และรวมถึหาประโยชน์โดยมิชอบต่าง ๆ มันจึงเป็นเรื่องสำหรับที่ผู้คนยุคสมัยนี้ โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนจะต้องมีทักษะในการรู้เท่าทันสื่อ และรู้จักที่จะแยกแยะและตรวจสอบข้อมูลต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของผู้ไม่หวังดีที่สร้างข้อมูลดังกล่าว
ทั้งหมดที่กล่าวมานี้ อาจเป็นภัยเพียงบางส่วนเท่านั้นที่เกิดขึ้นกับเด็กและเยาวชน เพราะในโลกนี้ยังมีภัยอีกมากมายที่ใช้โลกออนไลน์เป็นเครื่องมือในการเข้าถึงเหยื่อ ซึ่งเป็นเรื่องง่ายดายมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ครูผู้สอนและผู้ปกครองจะต้องสร้างภูมิคุ้มกันที่ดีให้เด็กและเยาวชนในการระมัดระวังตัวเองไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากภัยในโลกออนไลน์นี้
เรียบเรียงโดย : นรรัชต์ ฝันเชียร